รูป

วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

บทที่ 3

บทที่ 3.นวัตกรรมทางการศึกษาและการบริหารการศึกษา
3.1 เทคโนโลยีการศึกษาในฐานะองค์ความรู้ในประเทศไทย เทคโนโลยีทางการศึกษาในฐานะที่เป็นองค์ความรู้พบได้จากการที่มหาวิทยาลัยต่างเปิดสอนวิชาเทคโนโลยีทางการศึกษา ทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก โดยระดับปริญญาตรีมุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีการศึกษา เพื่อไปปฏิบัติงานในลักษณะนักปฏิบัติในสถาบันการศึกษาและองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน สำหรับระดับปริญญาโทและปริญญาเอก มุ่งเน้นผลิตบัณฑิตทางด้านเทคโนโลยีทางการศึกษาที่เป็นทั้งนักออกแบบ นักจัดการระบบ ผู้ควบคุมการผลิตและการใช้สื่อต่าง ๆ เนื้อหาที่สอนจะครอบคลุมถึงแนวคิดพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีการศึกษา สื่อทางการศึกษาที่จะครอบคลุมงานทางด้านกราฟิก เครื่องฉายต่าง ๆ เครื่องเสียง ภาพยนตร์ วิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ การใช้สื่อโทรคมนาคมเพื่อการศึกษา เช่น การใช้โทรศัพท์เพื่อการศึกษา การใช้วีดิโอเทกซ์ การใช้ดาวเทียม การใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อการศึกษา การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา3.2 เทคโนโลยีการศึกษาในฐานะเครื่องมือในการบริหารในฐานะเครื่องมือทางการบริหาร เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญซึ่งจำแนกได้ ดังนี้ 3.2.1 เป็นเครื่องมือในด้านการบริหารองค์กร เพื่อให้ดำเนินงานตามวิธีระบบและบรรลุวัตถุประสงค์ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะจัดการเกี่ยวกับ :- (1) การกำหนดจุดมุ่งหมายและนโยบายเกี่ยวกับ บทบาท วัตถุประสงค์ การเรียนการสอน ตัวผู้เรียน และการจัดทรัพยากรการเรียน ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกัน (2) การให้การสนับสนุน จะต้องมีการวางแผนการจัดหาทรัพยากร ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้งการวางแผนปฏิบัติงานและการประเมินผลงาน (3) การจัดบริการที่มีประสิทธิภาพ (4) การสร้างความประสานสัมพันธ์ให้มีการร่วมมือในการปฏิบัติงานของทุกหน่วยงานย่อยในองค์กร ตลอดจนวิธีการเผยแพร่ข่าวสารและการติดต่อสื่อสาร เพื่อให้การปฏิบัติงานดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยและสำเร็จตามวัตถุประสงค์ 3.2.2 การเป็นเครื่องมือด้านธุรการ ได้แก่ การผลิตเอกสาร การนัดหมาย การทำ ทะเบียนนักศึกษา ทะเบียนครุภัณฑ์ การทำบัญชีการเงิน และการควบคุมงบประมาณ 3.2.3 ด้านการบริหารงานบุคลากร เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ด้านการบริหารงานบุคลากรเพื่อการแต่งตั้งบุคลากรเข้ารับตำแหน่งให้เหมาะสมกับหน้าที่ โดยสอดคล้องกับความสามารถของแต่ละบุคคล ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินงานขององค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากการแต่งตั้งแล้ว เทคโนโลยียังสามารถใช้ในการสรรหา การคัดเลือกบุคลากร การพัฒนาบุคลากร การนิเทศงาน การบำรุงขวัญการทำงาน สวัสดิการ และการประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคลากร 3.2.4 การบริหารวิชาการ จะใช้เทคโนโลยีในการเก็บระเบียนผลการเรียน การวัดและการประเมินผล พร้อมทั้งการรายงานผลการเรียน 3.2.5 ด้านการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ โดยการผลิตสื่อต่าง ๆ เพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์กิจการของสถาบันการศึกษา และการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างสถาบันการศึกษากับชุมชน3.3 เทคโนโลยีการศึกษาในฐานะเครื่องมือทางวิชาการสถาบันการศึกษาใช้เทคโนโลยีการศึกษาใน 2 ลักษณะ คือ ยึดสื่อคนเป็นกลาง กับ ยึดสื่อสิ่งของเป็นหลัก การยึดสื่อคนเป็นหลัก หมายถึง การให้ครู อาจารย์ เป็นแหล่งความรู้หลัก แล้วใช้สื่อสิ่งของเสริมการสอนของครู เป็นวิธีที่พบเห็นทั่วไปในสถาบันการศึกษาแบบปิดที่ใช้ระบบการเรียนการสอนแบบผู้เรียนกับผู้สอนเผชิญหน้ากัน การยึดสื่อสิ่งของเป็นหลัก การใช้รูปแบบนี้ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า การเรียนรู้อาจเกิดขึ้นได้โดยที่ผู้เรียนไม่ต้องเผชิญหน้ากับผู้สอน แต่อาจเรียนได้จากสื่อประสมประเภทต่าง ๆ ในรูปของการศึกษาทางไกล โดยทั่วไปการใช้ในลักษณะนี้จะพบในมหาวิทยาลัยแบบเปิด ซึ่งมีการใช้อยู่ 3 ลักษณะ คือ3.3.1 การใช้สื่อสิ่งพิมพ์เป็นแกน เสริมด้วยสื่อโสตทัศน์ (AV Media) รายการวิทยุ กระจายเสียง รายการวิทยุโทรทัศน์ การสอนเสริม และสื่อโทรคมนาคม เป็นต้น เช่นที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชและมหาวิทยาลัยเปิดแห่งอังกฤษ เป็นต้น3.3.2 การใช้สื่อวิทยุหรือโทรทัศน์เป็นแกน โดยใช้วิทยุหรือโทรทัศน์เป็นสื่อ ใช้กันที่มหาวิทยาลัยทางอากาศของญี่ปุ่นและมหาวิทยาลัยทางโทรทัศน์ของประเทศจีน3.3.3 การใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือคอมพิวเตอร์เป็นแกน เช่น ที่มหาวิทยาลัยเปิดในสหรัฐอเมริกา เป็นต้นนอกจากนี้ ในปัจจุบันการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ยังเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในมหาวิทยาลัยแบบปิดทั้งในอเมริกาและยุโรป โดยระบบที่เราเรียกว่า e - Learning3.4 เทคโนโลยีการศึกษาในฐานะเครื่องมือบริการทางวิชาการหน้าที่ที่สำคัญอย่างหนึ่งของสถาบันการศึกษาก็คือ การบริการทางวิชาการ ให้แก่บุคลากรภายในและให้บริการแก่ชุมชน ในฐานะเครื่องมือสำหรับการบริการทางวิชาการ เทคโนโลยีการศึกษาจะช่วยเผยแพร่ความรู้ให้แก่ประชาชนได้ ไม่ว่าจะอยู่ในระบบการศึกษาหรืออยู่นอกระบบ โดยจัดในรูปของสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อฝึกอบรม รายการทางวิทยุกระจายเสียง รายการโทรทัศน์ และวัสดุบันทึก และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งวัสดุเหล่านี้จะเก็บไว้เพื่อให้บริการในห้องสมุด สำนักวิทยบริการ ศูนย์วิชาการ ศูนย์การเรียนรู้ ฯลฯ โดยผู้ใช้บริการสามารถค้นหาหรือยืมไปศึกษาที่เคหะสถานของตนเองได้ 3.5 เทคโนโลยีการศึกษาในฐานะทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการเรียนทรัพยากรการเรียน หมายถึง ทรัพยากรทุกชนิดที่ผู้เรียนสามารถใช้แบบเชิงเดี่ยวหรือแบบผสมอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อเอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ ซึ่งได้แก่ ข้อสนเทศ/ข่าวสาร บุคคล วัสดุ เครื่องมือ เทคนิค และอาคารสถานที่ 3.5.1 ข้อสนเทศ/ข่าวสาร คือข้อเท็จจริงที่ได้ประมวลและจัดเก็บไว้อย่างเป็นระบบพร้อมที่จะถ่ายทอดสู่บุคคลที่สนใจ 3.5.2 บุคคล (People) บุคลากรแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มที่ทำหน้าที่รวบรวมและจัดระบบการเก็บข้อสนเทศและข่าวสาร กลุ่มที่สองคือคณะบุคคลที่ปฏิบัติงานในหน่วยงาน และทำหน้าที่ในการถ่ายทอดข้อสนเทศและข่าวสาร ซึ่งได้แก่ ครู นักการศึกษา นักวิชาการ 3.5.3 ผู้เชี่ยวชาญ คือบุคลากรที่เตรียมงาน ปรับปรุง ผลิต ดำเนินการประเมินผลและพัฒนา เพื่อให้การเรียนการสอนประสบผลสำเร็จ 3.5.4 วัสดุ ได้แก่ สิ่งของ จำแนกได้เป็น 2 ประเภท คือ (1) ประเภทที่บรรจุหรือบันทึกข่าวสารที่จะต้องถ่ายทอดด้วยเครื่องมืออื่น เช่น แผ่นเสียง ฟิล์มสตริป สไลด์ ภาพยนตร์ วิดีโอเทป ไมโครฟิลม์ ไมโครพิช ฯลฯ (2) ประเภทที่ตัวของมันเองสามารถใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องอาศัยเครื่องมืออื่น เช่น แผนที่ ลูกโลก หนังสือ ของจริง ของจำลอง ฯลฯ 3.5.5 เครื่องมือ คืออุปกรณ์ที่เป็นตัวถ่ายทอดข่าวสารที่บรรจุหรือบันทึกไว้ในวัสดุ ส่วนมากจะเป็นเครื่องกลไกไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ บางอย่างก็ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเครื่องกลไกที่ใช้ไฟฟ้าหรือเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ เครื่องฉายภาพยนตร์ เครื่องฉายสไลด์ เครื่องบันทึกเสียง เครื่องบันทึกภาพ เครื่องฉายภาพทึบแสง กล้องถ่ายรูป กล้องถ่ายภาพยนตร์ กล้องโทรทัศน์ เครื่องพิมพ์ และอ่านไมโครฟิล์ม/ไมโครชิพ 3.5.6 เทคนิค เป็นกลวิธีในการถ่ายทอดข่าวสารหรือเสนอเนื้อหาวิชาความรู้ให้แก่ผู้เรียน ได้แก่ (1) เทคนิคทั่วไป (General technique) ได้แก่ เทคนิคการสอนแบบต่าง ๆ เช่น การสาธิต การสังเกต การอภิปราย การแสดงนาฏการ การบรรยาย การสาธิต การฝึกปฏิบัติการเรียน แบบแก้ปัญหาหรือแบบค้นพบ และแบบสอบสวนและสืบสวน การเรียนการสอนแบบโปรแกรม สถานการณ์จำลอง เกมต่าง ๆ การเรียนการสอนแบบโครงการ ฯลฯ (2) เทคนิคการใช้ทรัพยากร (Resource-based technique) ได้แก่ การศึกษานอกสถานที่ การใช้ทรัพยากรชุมชน การจัดห้องเรียน (3) เทคนิคการใช้วัสดุและเครื่องมือ ได้แก่ กลวิธีการใช้วัสดุและเครื่องมือในการจัดการศึกษาและการเรียนการสอน เช่น ใช้โสตทัศนูปกรณ์ในการเรียนการสอน เทคนิคการใช้สื่อประสมเพื่อให้ผู้เรียนได้ความคิดรวบยอดที่กระจ่างจากตัวอย่าง หรือการแสดงด้วยสื่อหลายชนิด3.6 เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษาในฐานะเครื่องมือในการพัฒนาบุคลากรในการพัฒนาบุคลากร การอบรมเป็นวิธีการหนึ่งที่สถาบันการศึกษาและองค์การต่าง ๆ ใช้กันอย่างแพร่หลายในฐานะเครื่องมือในด้านการพัฒนาบุคลากร หน่วยงานที่จัดอบรมจะต้องรู้ว่าหัวข้อในการจัดอบรมได้แก่หัวข้ออะไร ส่วนผู้สอนก็จะต้องรู้ว่าในบรรดาเทคนิคการสอนต่าง ๆ ที่ใช้กันอยู่นั้นต้องใช้เทคนิคการสอนแบบใดจึงจะเหมาะสม และจะจัดสภาพแวดล้อมของห้องอบรมอย่างไร เช่น ระบบแสง ระบบเสียง ระบบควบคุมอุณหภูมิ จะจัดที่นั่งของผู้เข้าอบรมแบบไหน แบบวงกลม ครึ่งวงกลม สีเหลี่ยมผืนผ้า สี่เหลี่ยมจัตุรัส รูปตัว U หรือจัดเป็นกลุ่ม ๆ และจะใช้โสตทัศน์อุปกรณ์ประเภทไหน เช่น โปรเจคเตอร์ จอภาพ เครื่องเล่นเทป เครื่องคอมพิวเตอร์ หรือเครื่องฉายสไลด์3.7 เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษาในฐานะเครื่องมือสนับสนุนการเรียนรู้ ดังที่กล่าวแล้วว่า การเรียนรู้ของมนุษย์เกิดขึ้นได้จากการฟัง การอ่าน การเห็น และการสัมผัส ดังนั้น เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษาจึงสามารถสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ 5 วิธี คือ 3.7.1 นำหลักสูตรซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานที่เร้าใจเข้าสู่ห้องเรียน นั่นคือ หลักสูตรจะเกี่ยวข้องกับตัวนักเรียนโดยตรง นักเรียนจะค้นหาปัญหาของเขาเอง ทดสอบความคิด รับข้อมูลย้อนกลับ และทำงานร่วมกับนักเรียนคนอื่น ๆ หรือฝึกหัดนอกห้องเรียน 3.7.2 จัดหาเครื่องมือซึ่งจะกระตุ้นการเรียนรู้ สนับสนุนการคิดและการแก้ปัญหา กำหนดรูปแบบของกิจกรรมและแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติ 3.7.3 ให้โอกาสแก่นักเรียนและครูมากขึ้นในการให้ข้อมูลย้อนกลับ รวมทั้งข้อมูลทั้งหลายที่นักเรียนประเมินเกี่ยวกับคุณภาพของความคิดและผลผลิตของเขา ให้โอกาสนักเรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กับนักวิทยาศาสตร์ รับข้อมูลย้อนกลับจากแหล่งต่าง ๆ รวมทั้งเพื่อนของเขา และผู้ที่มีประสบการณ์ในเชิงวิชาการในสิ่งที่เขาจำเป็นต้องปรับปรุง 3.7.4 สร้างชุมชนวิชาการในท้องถิ่นหรือระดับประเทศ ในชุมชนจะรวมทั้งครู ผู้บริหาร ผู้ปกครอง นักเรียน นักวิทยาศาสตร์ และคนอื่น ๆ ที่สนใจในชุมชน ขยายสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ให้ออกนอกกำแพงโรงเรียน 3.7.5 เพื่อขยายโอกาสสำหรับครู ซึ่งรวมถึงการช่วยครูให้คิดเกี่ยวกับผู้เรียนและ การเรียนรู้ที่แตกต่างออกไปเพื่อลดอุปสรรคระหว่างครูและนักเรียนในฐานะผู้เรียน เพื่อขยายชุมชนของผู้เรียนที่สนับสนุนการสื่อสารที่ดำเนินอยู่ 3.8 เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษาในฐานะสนับสนุนการสอน ในฐานะสนับสนุนการเรียนการสอน เทคโนโลยีการศึกษามีบทบาทอยู่ 2 ลักษณะ คือ3.8.1 การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในห้องเรียนในรูปของการฝึกปฏิบัติ ปัจจุบันมีซอฟท์แวร์จำนวนมากซึ่งทำงานในลักษณะให้คำแนะนำในการฝึกปฏิบัติแก่นักเรียน ตัวอย่างเช่น JURVSSIC SPELLING ซึ่งผลิตโดยบริษัท DAREWARE AND MOTES โปรแกรมนี้เป็นโปรแกรมที่ฝึกสะกดคำซึ่งจะมีเสียงเตือนทุกครั้งที่นักเรียนสะกดคำได้ถูกต้อง หลังจากนักเรียนสะกดคำถูกต้องตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้แล้ว นักเรียนจะได้รับรางวัลเป็นรูปภาพไดโนเสาร์พร้อมทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับไดโนเสาร์ อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ โปรแกรม ANIMATED MULTIPLICATION AND DIVISION ซึ่งผลิตโดยบริษัท GUTHERY AND MEZA ลักษณะของการทำงานของโปรแกรมคือ เมื่อนักเรียนสามารถแก้ปัญหาเกี่ยวกับการคูณหรือการหารได้ถูกต้อง นักเรียนจะได้รับรางวัลโดยได้รับอนุญาตให้สร้างรูปภาพขึ้นมาแล้วโปรแกรมจะทำให้ภาพนั้นเคลื่อนไหว 3.8.2 การใช้โปรแกรมทำงานประหนึ่งเป็นติวเตอร์ (Tutor) โปรแกรมลักษณะนี้จะทำงานแบบทำคนเดียว นักเรียนจะเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ โดยปราศจากความช่วยเหลือจากวัสดุการสอนอื่น ๆ แต่จะเรียนรู้จากกิจกรรมต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในคอร์สแวร์ (Courseware) เท่านั้น โปรแกรมลักษณะนี้จำแนกได้ 2 ประเภท คือ ประเภททำงานแบบทางเดียว (Linear tutorials) และโปรแกรมที่ทำงานแบบมีทางเลือก (Branching tutorials) โปรแกรมทำงานแบบทางเดียวจะบังคับให้ผู้เรียนทำกิจกรรมต่าง ๆ เรียงไปตามลำดับ ส่วนโปรแกรมแบบมีทางเลือก ผู้เรียนจะทำกิจกรรมในทางเลือกที่เป็นผลจากการตอบคำถามของนักเรียน ตัวอย่างโปรแกรมแบบติวเตอร์ เช่น BRODERBUND’S WELCOME TO PHYSICS โปรแกรมนี้นักเรียนสามารถใช้เรียนคนเดียว สำหรับครูสามารถใช้โปรแกรมนี้เพื่อแนะนำเกี่ยวกับแนวคิด เพื่อสาธิตหรือเป็นเครื่องมือเพื่อนำไปสู่การอภิปราย หรืออาจจะใช้เป็นการทบทวนเนื้อหา

ไม่มีความคิดเห็น: